วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนข่าวกีฬาผ่าทางตันรถไฟฟ้าสายสีเขียว..เลิกซื้อเวลา ซุกปัญหาใต้พรม!

ผ่าทางตันรถไฟฟ้าสายสีเขียว..เลิกซื้อเวลา ซุกปัญหาใต้พรม!

พิมพ์ไทยออนไลน์ // ทำเอาทุกฝ่ายได้แต่ “อึ้งกิมกี่”

กับเรื่องที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีออกมา “กระตุกเบรก” การฉีดวัคซีนต้านโควิดแบบ Walk -in หัวทิ่ม ด้วยเกรงผู้ที่เดินทางไปแล้วไม่ได้คิวฉีดจะออกมาโวยวาย จนกลายเป็นความโกลาหล และอาจก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่เอาได้

พร้อมสั่งให้ทุกฝ่ายหุบปาก รอฟังความชัดเจนจาก “ศูนย์บริหารสถานการณ์ไวรัสโควิด”หรือ ศบค.แทน ทำเอาแผนกระจายการฉีดวัคซีนต้านโควิด “วอล์ก-อิน” ที่เจ้ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตีปี๊บมากว่าสัปดาห์ค้างเติ่ง จนลูกพรรค ภท.ออกมาสัพยอกนายกฯ กลัวผู้คนจะติดโควิดทั้งประเทศก่อนได้ฉีด ขณะผู้ที่รอคิวฉีดแบบไม่ต้องลงทะเบียน “หมอพร้อม”(แต่ระบบและวัคซีนไม่พร้อม) ได้แต่นั่งหาวเรอรอเก้อไปตามๆ กัน

พร้อมกับตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการวัคซีนและการสื่อสารของรัฐ เหตุใดถึงเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านยิ่งกว่าบ้านทรายทองได้เช่นนี้  แล้วอย่างนี้จะไปเพรียกหาความมั่นใจจากประชาชนคนไทยได้อย่างไร ในเมื่อแม้แต่ระดับนโยบายรัฐยังพายเรือคนละทางกันแบบนี้

 

 

 

เช่นเดียวกับเรื่อง “การเจรจาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว”ให้กับ บมจ.บีทีเอส( BTS) ที่คาราคาซังมากว่าขวบปี นับตั้งแต่รัฐบาล คสช.ของพลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจตาม ม. 44 สั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งคณะกรรมการเจรจาสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้หลังจาก กทม.ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ค่าก่อสร้างและค่าจ้างบริหารจัดการเดินรถที่มีอยู่กับบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานได้

นัยว่า เฉพาะหนี้ค้างที่กองอยู่เบื้องหน้าที่ BTS ยื่นโนตี๊สให้ กทม.ต้องจ่ายในเวลานี้ก็ปาเข้าไปกว่า 30,000 ล้านแล้ว  ยังไม่รวมหนี้ก่อสร้างที่จะทยอยครบดิว และค่าจ้างเดินรถรายปีอีกปีละ 6-7,000 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลหนี้ที่ กทม.จะต้องแบกรับในระยะ 8-9 ปีข้างหน้า ก่อนสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงในปี 2572 เกือบแสนล้านบาทเลยทีเดียว!

แต่เมื่อกทม.และกระทรวงมหาดไทยนำผลเจรจาที่ได้ข้อยุติข้างต้นเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อปลายปี 2563 โดยเสนอให้ต่อขยายสัญญาสัมปทาน BTS ออกไปอีก 30 ปี(ถึงปี 2602 ) เพื่อแลกกับการให้บริษัทเอกชน BTS แบกรับภาระหนี้ทั้งมวลของกทม.ไป รวมทั้งต้องปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวลงมาจากที่ต้องจัดเก็บเต็มอัตราศึก 104 บาทตลอดสายเหลือ 65 บาทตลอดสาย( 68.5 กิโลเมตร) ทั้งยังต้องจ่ายสัมปทานให้กับกทม.อีก 200,000 ล้านบาทด้วย ก็กลับถูกกระทรวงคมนาคม และเครือข่ายในภาคประชาชนออกโรงคัดค้าน ตีโพยตีพายไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะต่อขยายสัมปทานให้กับ BTS ด้วยข้ออ้างค่ารถไฟฟ้าที่กำหนดไว้สูงเกินไป พร้อมเสนอให้รัฐดำเนินการเอง หรือไม่ก็เปิดประมูลสัมปทานกันใหม่ 

โดยไม่มีการพูดถึงหนี้ค้างที่กองอยู่เบื้องหน้าก่อนสัมปทานสิ้นสุดในปี 72 ร่วมแสนล้านบาทนั้นจะให้ กทม.และรัฐบาลทำอย่างไร? เพราะล่าสุดนั้น ผู้บริหาร บมจ.บีทีเอส “นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา” ที่นอกจากจะยื่นโนตี๊สไปถึงกทม .แล้ว ยังอัดคลิปทวงหนี้รัฐ(กทม.) ผ่านสื่อโซเชียลให้ทั่วโลกได้เห็นด้วยแล้ว ยิ่งกดดัน กทม.หนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่เคยมีรัฐบาลใดในประวัติศาสตร์ถูกบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานลุกขึ้นมาทวงหนี้กัน “โจ๋งครึ่ม”ขนาดนี้ อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึง Creditability ของรัฐบาลในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

ทำเอาเส้นทางการพิจารณาต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวค้างเติ่งคาราคาซังมาจนกระท่ังวันนี้ และแม้จะมีการตีแผ่ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่กระทรวงคมนาคมนำมาอ้างอิง เพื่อ”กระตุกเบรก” การพิจารณาต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวข้างต้น เป็นข้อมูล “ยกเมฆ” ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะแม้แต่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงของ รฟม.ใต้ชายคาที่ไปว่าจ้างบริษัทรับเหมายักษ์ บมจ.บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้า (BEM) เดินรถให้ก็ยังกำหนดอัตราค่าโดยสารเอาไว้สูงลิบลิ่วสูงกว่ารถไฟฟ้า สายสีเขียวเสียอีก ทั้งที่รัฐบาลได้จ่ายค่าก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้หมดแล้ว 

แต่กระนั้น ดูเหมือนข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงที่สื่อและนักวิชาการร่วมกันตีแผ่ออกมาชัดซะยิ่งกว่า “แป้ง”ข้างต้น กลับไม่ทำให้รัฐบาล และโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะได้ตัดสินใจอะไรลงไป ได้แต่ “ซื้อเวลา-ซุกปัญหาใต้พรม” เอาไว้อย่างนั้น จนทำเอา กทม.กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะยิ่งทอดยาวออกไป กทม.ก็ยิ่งแบกรับภาระหนี้และดอกเบี้ยค้างบานตะไทหนักเข้าไปอีก

 คงได้แต่ฝากแง่คิดให้ “นายกฯลุงตู่” ที่เวลานี้คงกำลังสาละวนอยู่กับ “วิกฤตไวรัสโควิด” และการบริหารจัดการในเรื่องวัคซีนจนแทบไม่เป็นอันได้คิดอะไรอีก ก็ไหนลูกพรรคพปชร.เคยโอ่นักโอหนาว่ารัฐบาลของฯพณฯท่านนายกฯลุงตู่ของเรานั้น  ทำงานหนักยิ่งกว่ารัฐบาลชุดไหน ๆ ในประวัติศาสตร์ตัวนายกฯมีการตัดสินใจเฉียบคม เด็ดขาด ยึดมั่นผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง จนถึงขนาดที่มีการเปรียบเปรยและยกย่อง “นายกฯลุงตู่” เทียบชั้น “วินสตัน เชอร์ชิลด์” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในยุคสงครามโลกครั้งที่สองกันเลยทีเดียว

แล้วเหตุใดกลับจะมา “บ้อท่า” แค่จะขี้ขาดว่าจะเอาอย่างไรกับสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)และกระทรวงมหาไทย ตั้งแท่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)ชี้ขาดว่าจะต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC หรือ “ล้มกระดาน” เปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามารับสัมปทานกันดี!

เพราะอย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ยิ่งซื้อเวลาก็ยิ่งจะทำให้ผู้คนอิดหนาระอาใจ จนพลอยจะคิดว่ารัฐบาลชุดนี้บ่มี “น้ำอิ๊ว” เอาได้  ก็ในเมื่อนายกฯกล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวริบอำนาจตามกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงมาอยู่ในมือตนเอง เพื่อให้การบริหารจัดการฉับไว มีประสิทธิภาพ และความเป็นเอกภาพ ก็สมควรจะได้แสดงให้เห็นความเด็ดเดี่ยว ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหารถไฟฟ้า สายสีเขียวที่ว่านี้ด้วย

หาไม่แล้ว การซื้อเวลา-ซุกปัญหาใต้พรมที่ว่านี้ สุดท้ายจะกลายเป็น”หนามยอกอก”ที่แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองนั่นแหล่ะจะโยนขี้ว่า เป็นความรับผิดชอบของนายกฯคนเดียวที่ทำให้ประชาชนคนกรุงฝันค้างหรือต้องจ่ายค่าโดยสารแพงระยับ เหมือนดั่งที่กำลังมีความพยายามจะโยนภาระ รับผิดชอบเรื่องการบริหารวัคซีนนี้ให้นายกฯคนเดียวรับไปเต็มๆ 

ไม่รักใคร่ชอบพอกัน คงไม่กล้าเตือนกันตรงๆ ขนาดนี้หรอก “ลุงตู่”จริงไม่จริง!

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่