พิมพ์ไทยออนไลน์ // เปิดไส้ในเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้มมูลค่า 1.4 แสนล้าน ที่รฟม.-กรรมการคัดเลือก ยอมเอาเก้าอี้เป็นเดิมพันวงการรับเหมาชี้พิรุธเกณฑ์ประเมินเปิดทางกก.ใช้ดุลพินิจเป่าลมให้คะแนน-ตัดสิทธิ์คู่แข่งทุกประตู ด้านอดีตผู้ว่า รฟม.”ประภัสร์ จงสงวน ” ชี้งานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินแค่เทคนิคพื้นๆ รับเหมาไหนก็ทำได้
หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการตัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(คณะกรรมการตามมาตรา 36 )ได้เดินหน้าประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว โดยรฟม.ได้เปิดเวทีรับฟังความคิด
เห็นต่อร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการจากผู้เกี่ยวข้องในช่วงวันที่ 1-15 มี.ค.ที่ผ่านมา ผ่านช่องทางออนไลน์
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า มีบริษัทรับเหมาเอกชน และองค์กรในภาคประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นต่อเงื่อนไขการประมูลและเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวค่อนข้างมาก แต่กระนั้นหลายฝ่ายก็เชื่อว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องของรฟม..ครั้งนี้ เป็นเพียงมหกรรมปาหี่ เท่านั้น เพราะรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้ตั้งธงที่จะนำเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวมาใช้อยู่แล้ว โดยจะนำเอาข้อเสนอด้านเทคนิคมาพิจารณาร่วงมกับซองข้อเสนอด้านการเงินในสัดส่วน 30 : 70 อยู่ดี
ทั้งนี้แหล่งข่าววงในวงการรับเหมา ได้คลี่เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวว่า เป็นเกณฑ์ประเมินที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการคัดเลือกใช้ดุลพินิจ”เป่าลม” เพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งได้อย่างกว้างขวาง เอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอรายหนึ่งรายใดอย่างไร ดังนี้ ;
1. เกณฑ์ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค
1.1. ประสบการณ์ ความพร้อมขององค์กร และความสามารถของบุคลากร (10%)
เป็นการนำข้อเสนอทางเทคนิคมาคิดเป็นคะแนนในการประเมินผู้ชนะคัดเลือก ที่แม้จะคงสัดส่วนไว้ที่ 10% แต่มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาโดยนำจำนวนและมูลค่าโครงการที่เคยดำเนินการมาเป็นหัวข้อให้คะแนน (ซึ่งด้วยเกณฑ์ดังกล่าว วงการรับเหมาวิเคราะห์ว่าทำให้กลุ่ม STEC เสียเปรียบCK และ ITD อย่างมากในเรื่องประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เพราะ STEC มีประสบการณ์ทำอุโมงค์น้อยกว่ารายอื่น จึงเป็นการเพิ่มหลักเกณฑ์ประเมินที่ทำให้กลุ่ม BSR เสียเปรียบทันที)
1.2.เทคนิค วิธีการ แผนงาน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง (50%)
เกณฑ์เดิมกำหนดสัดส่วนไว้ 40% แต่เกณฑ์ใหม่ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักขึ้นเป็น 50% โดยมีเกณฑ์พิจารณาทั้งความครบถ้วน ถูกต้องของวิธีการก่อสร้างที่สอดคล้องตามข้อกำหนด แผนงานที่เหมาะสมสอดคล้องตามหลักวิศวกรรม และแผนงานควบคุมความปลอดภัย ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเปิดทางให้กรรมการใช้ดุลินิจในการให้คะแนนได้อย่างกว้างขวางและสามารถจะเทคะแนนไปให้กลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มใดก็ได้
1.3.เทคนิค วิธีการ แผนงานและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงานรถไฟฟ้า (M&E) รวมทั้งในเรื่องคุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้า
(10%)
แต่เดิมเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดไว้สัดส่วน 15% แต่เกณฑ์ประเมินใหม่ได้ลดน้ำหนักลงจากเหลือ 10% เปิดโอกาสให้ กรรมการใช้ดุลพินิจในการให้คะแนน ทั้งนี้หากเทียบประสบการณ์ในการจัดหารถไฟฟ้านั้น แม้กลุ่ม BSR จะได้เปรียบในแง่ต้นทุนจัดหารถไฟฟ้า แต่ก็จะถูกลดทอนในเรื่องคุณภาพและสเปกรถไฟฟ้าที่จัดหา
นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์ปลีกย่อยเรื่องของแผนงานที่เหมาะสม สามารถเปิดให้บริการตามกำหนด ที่เปิดโอกาสให้กรรมการใช้ดุลนินิจในการพิจารณาให้คะแนนว่าข้อเสนอกลุ่มใดจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่เสนอได้ (และตัดคะแนนกลุ่มที่เห็นว่าแผนงานไม่น่าเชื่อถือได้อีก)
1.4. เทคนิค วิธีการ แผนงานและรายละเอียดของการบริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง(O&M)
แม้จะคงคะแนนเท่าเดิม 30% แต่เมื่อเปิดให้กรรมการสามารถใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนได้ จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถเป่าลมให้คะแนนหรือตัดคะแนนกลุ่มใดก็ได้อีก
1.5.การถ่ายทอดเทคโนโลยี เดิมในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม.จะมีเกณฑ์พิจารณาประเด็นนี้ 5% แต่หลักเกณฑ์ใหม่ได้ตัดออกไป
ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคใหม่นี้ จะนำคะแนนที่แต่ละกลุ่มได้มาคิดเป็นสัดส่วนคะแนนเต็ม โดยหากได้ 100% จะได้ 30 คะแนน หากผ่าน 70% จะได้ 21 คะแนน แล้วไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอทางการเงินประกอบ 70%
2. ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทน
2.1 ในเงื่อนไขประมูลเดิม และเกณฑ์การพิจารณาเดิมนั้นจะพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอที่มี NPV ของผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดเป็นเกณฑ์ แต่เกณฑ์
ใหม่นี้ให้น้ำหนักข้อเสนอทางการเงิน 70 คะแนน โดยแบ่งเป็น ความน่าเชื่อถือของข้อเสนอการเงิน 10 คะแนน ซึ่งจะพิจารณาความสอดคล้องครบ
ถ้วนของ BOQ งานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า ความสอดคล้องครบถ้วนของประมาณการรายได้ และค่าใช้จ่ายในการบริการเดินรถไฟฟ้าและการบำรุง
รักษามาให้คะแนน ทำให้เปิดโอกาสให้กรรมการสามารถใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนได้อย่างกว้างขวาง
2.2 นอกจากนี้ยังปรับเกณฑ์การพิจารณาเรื่องตอบแทนทางการเงิน ที่เป็นการคำนวณจากค่างานโยธารรวมกับส่วนแบ่งรายได้จากการเดินรถโดย
คิดตามมูลค่าปัจจุบัน (NPV) โดยเอกชนที่เสนอของบสนับสนุนงานโยธาต่ำสุดจะได้คะแนนสูงสุด แต่เกณฑ์ใหม่นั้นให้น้ำหนักคะแนนส่วนนี้เพียง
60% เป็นการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินผู้ชนะที่แตกต่างไปจากการประมูลโครงการ PPP net cost ที่ รฟม.เคยดำเนินการในอดีตโดยสิ้นเชิง
“แทบจะเป็นการล็อคสเปคตั้งแต่ในมุ้ง เพราะการปรับเกณฑ์ใหม่ที่เปิดโอกาสให้กรรมการใช้ดุลพินิจในการประเมินให้คะแนนได้อย่างกว้างขวางนี้ ย่อมทำให้สามารถเพิ่มคะแนนและกดคะแนนเพื่อช่วยเหลือเอกชนกลุ่มใดเป็นการเฉพาะได้”
แหล่งข่าวกล่าวว่าในการแสดงความเห็นที่มีไปยัง รฟม.นั้น1. บริษัทรับเหมาเอกชนได้แสดงความเห็น ต้องการเห็น เกณฑ์ประมูลที่เปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และไม่มีการกำหนดเกณฑ์เผื่อประโยชน์แก่เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และต้องยึดถือมติ ครม.ที่ได้อนุมัติหลักการโครงการและงบประมาณ เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า
2. ด้านคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ เห็นว่าเกณฑ์ในการประมูลต้องเปิดกว้างให้มีผู้เข้าแข่งขันได้จำนวนมาก เพื่อเปิดโอกาสให้ รฟม.ได้เฟ้นหาผู้ให้ประโยชน์ต่อรัฐได้จริง ไม่ควรกำหนดคุณสมบัติที่เป็นการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง
3.ด้านคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอก็ควรเปิดกว้างให้มีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย ไม่ควรกำหนดผลงานผู้รับเหมาหรือผู้ประกอบการภายในประเทศ เนื่องจาก รฟม.มีงบประมาณจ้างที่ปรึกษาเพื่อควบคุม ตรวจสอบการทำงานสูงมากอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการขุดอุโมงค์มากจนเกินเหตุ และผู้รับเหมาต่างชาติต่างมีประสบการณ์มากกว่า แต่ไม่กล้ายื่นเพราะข้อกำหนดที่จำกัดแต่ประสบการณ์ในประเทศ
4. เกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก โดยพิจารณาซองข้อเสนอที่ 2 และ 3 พร้อมกัน เป็นสิ่งไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใส โดย รฟม.และผู้ประเมินสามารถกำหนดผลแพ้ชนะได้ด้วยเทคนิคการให้คะแนนให้แก่ผู้ยื่นประมูลรายที่เสนอผลตอบแทนน้อยกว่า ให้สูงกว่าผู้ยื่นประมูลรายที่มีข้อข้อเสนอทางการเงินสูงกว่าได้
5.การยกเลิกเกณฑ์ประเมินขั้นต่ำทางเทคนิค จากที่กำหนดไว้เดิมจะต้องผ่าน 85% เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการกำหนดผลแพ้ชนะได้ด้วยการเทคะแนนทางเทคนิคให้แก่ผู้ยื่นประมูลรายใดรายหนึ่ง และเป็นการกำหนดที่ “ย้อนแย้ง”กับสิ่งที่ รฟม.ได้สื่อสารกับสาธารณะชนมาโดยตลอดเพราะที่ผ่านมา รฟม.อ้างเรื่องความสำคัญทางเทคนิค แต่กลับเอาเกณฑ์การประเมินขั้นต่ำทางเทคนิคออก ทั้งที่ควรต้องกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำให้สูงขึ้น
6. การนำข้อเสนอทางเทคนิคซองที่ 2 พิจารณาร่วมกับข้อเสนอทางการเงินซองที่ 3 ด้วยสัดส่วนใดก็แล้วแต่เป็นการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของการประมูลเพื่อออกแบบ ก่อสร้างและให้บริการเนื่องจากเป็นการแข่งขันการทำเทคนิคทางเอกสารแทน ขณะที่การให้คะแนนความน่าเชื่อถือทางการเงิน โดยนำไปอิงกับผู้ให้บริการรายเดิมของ รฟม.และเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการแสดง
เจตนารมณ์ที่ไม่บริสุทธิ์ในการคัดเลือก
ขณะที่นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรฟม.ได้ออกมาให้ความเห็นต่อโครงการดังกล่าวว่า ที่จริงแล้วเทคนิคการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินของรถไฟฟ้านั้น เป็นเทคนิคพื้นๆ ที่มีมานานแล้ว บริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่ไหนก็สามารถทำได้ และหากบริษัทรับเหมาใน
ประเทศไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ก็สามารถดึงต่างประเทศ ทั้งจีน หรือยุโรปเข้ามา ร่วมเป็นพันธมิตรได้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามเห็นด้วยว่าเรื่องของ เทคนิคการก่อสร้างนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่น เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จึงควรกำหนดสัญญาที่เปิดกว้างให้ภาครัฐสามารถปรับเปลี่ยนและแก้ไขเทคนิคได้ในส่วนนี้ ส่วนที่ว่า TOR เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางรายนั้น ตนยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ผู้ที่คัดค้านก็น่าจะแสดงออกมาข้อมูลออกมาว่าเอื้อแก่เอกชนรายใด เพราะเขายังไม่ได้เปิดซองประมูลยังไม่รู้ใครเป็นผู้แพ้ชนะ
ที่จริง TOR เดิมให้ความสำคัญกับเรื่องเทคนิคอยู่แล้ว ผู้ที่จะผ่านเกณฑ์ต้องได้ คะแนนด้านเทคนิคเกิน 85% แล้วจึงค่อยมาตัดสินด้วยราคา ทำให้เกิดความโปร่งใส แต่ของใหม่นั้น รฟม.กลับเอามาปนกันกับการเงิน เปิดซองพร้อมกันแล้วใช้ดุลยพินิจให้คะแนน ทำให้คณะกก.กำหนดตัวคนที่จะชนะได้เลย..
ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้รฟม.งานเข้า
จบไม่ลงจนวันนี้!