พิมพ์ไทยออนไลน์//ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ระหว่าง สำนักงาน คปภ. กรมการขนส่งทางบก และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อต่อยอดการเชื่อมโยงข้อมูลจากปี 2563 ที่จัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ สำหรับการให้บริการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax และตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ของกรมการขนส่งทางบก
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าปัจจุบันประชาชนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำรงชีวิตมากขึ้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ได้เล็งเห็นถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชน โดยเฉพาะในการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ และชำระภาษีรถประจำปี จึงได้มีการพัฒนาระบบรายงานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS) อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มศักยภาพในการรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุมทุกช่องทางการชำระภาษีรถประจำปีของกรมการขนส่งทางบกให้มีความรวดเร็ว โดยมีการเข้ารหัสทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัย ซึ่งภาพการทำงานของระบบเชื่อมโยงข้อมูลนี้ คือ เมื่อประชาชนมายื่นชำระภาษีรถประจำปี กรมการขนส่งทางบกจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับรถมายังสำนักงาน คปภ. อาทิ เลขทะเบียนรถ ประเภทรถ เพื่อตรวจสอบประกันภัยรถภาคบังคับ และเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวในระบบฐานข้อมูลของสำนักงาน คปภ. แล้ว ระบบจะมีการแจ้งผลการตรวจสอบไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อใช้ประกอบการรับชำระภาษีรถประจำปีจนเสร็จสิ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบดังกล่าว จะช่วยลดภาระทั้งกับประชาชนผู้ใช้บริการ และหน่วยงานของรัฐในการจัดเก็บเอกสารหลักฐาน ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร ซึ่งจะเป็นการยกระดับการอำนวยความสะดวก
แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยไปสู่การประกันภัยดิจิทัลแบบครบวงจร และสอดคล้องกับนโยบายการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอีกด้วย รวมทั้งจะเป็นการลดความสิ้นเปลืองในการใช้กระดาษ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก สำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูล จึงจะมีระบบเก็บรักษาข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้อย่างปลอดภัยเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะลดระยะเวลา การให้บริการกับประชาชนที่มาติดต่อดำเนินงานด้านทะเบียนและภาษีรถ รวมทั้งลดขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าและไม่ถูกต้องในการรับชำระภาษีรถประจำปี สอดรับกับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนโยบายรัฐบาลที่ต้องการนำระบบราชการในปัจจุบันยกระดับสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ซึ่งในปัจจุบันการรับชำระภาษีรถยังคงใช้หลักฐานการจัดทำประกันภัยรถที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาความคุ้มครองเป็นเอกสารประกอบ (ในรูปแบบกระดาษ) ทำให้เกิดภาระทั้งกับประชาชนผู้ใช้บริการ และหน่วยงานของรัฐในการจัดเก็บเอกสารหลักฐานดังกล่าว สอดรับกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน บูรณาการและยกดับระบบราชการไทยสู่การเป็นระบบราชการ 4.0
สำหรับนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้กล่าวขอบคุณทางกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานคปภ.ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนา และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากภาคประชาชนจะได้ประโยชน์แล้ว ภาคธุรกิจประกันภัยก็จะได้รับประโยชน์จากการลดต้นทุนการใช้กระดาษ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา E- Policy อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต โดยภาคธุรกิจประกันภัยจะเร่งในการนำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในโครงการนี้อย่างเต็มที
ในช่วงท้ายทั้ง 3 ฝ่าย ได้ร่วมกันแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อมวลชน โดยเลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า
“การพัฒนาระบบครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือแบบ cross-sector โดยหน่วยงาน คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลในฝั่งของภาคการเงินไปร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านคมนาคม โดยมีการบูรณาการร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยแบบครบวงจร เป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นโมเดลความร่วมมือที่มุ่งถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ นับเป็นก้าวที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลที่สมบูรณ์ ทั้งระบบรับประกันภัยและระบบการชำระภาษีประจำปี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นต้นแบบของความร่วมมืออื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนประโยชน์ของประชาชนต่อไป”:Cr;มณสิการ รามจันทร์