พิมพ์ไทยออนไลน์กระทรวง อว. เปิดผล “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” หลังนำร่องสืบค้นและสอบทานครัวเรือนยากจน 10 จังหวัดนำร่อง ประกาศสานต่อเฟส 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 64 ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับหน่วยงาน ซึ่งมีหน่วยงานเข้าร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อสอดรับตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นการเร่งด่วน อว. จึงดำเนินการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการพัฒนาพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกัน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก กล่าวต่อว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจติดตามอยู่เสมอ คนจนถือเป็นแกนแก่นของความมั่นคงของรัฐและสังคม การใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นสำคัญ แต่ระบบคิด (Mindset) และวัฒนธรรม ก็สำคัญ เราต้องทำให้คนจนของเราเข้มแข็ง ฝึกทักษะให้เขา และทำให้เขาเห็นโอกาสใหม่ เพิ่มโอกาสเข้าสู่ระบบศึกษา รวมทั้งต้องสร้างและปลุกเร้าครอบครัวให้เป็นแกนในการแก้ปัญหาความยากจน พื้นฐานของคนไทยเป็นคนเก่ง คนจนของไทยก็เป็น “คนจนที่ยิ่งใหญ่” ใช้หลักศาสนาและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภาครัฐและกระทรวง อว. จะทำหน้าที่เสริมและเติมเต็มศักยภาพ ทักษะ และระบบคิดให้คนจนไม่รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่อ่อนด้อย แต่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาทำได้
ทั้งหมดนี้เราต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนในระดับครัวเรือนเสียก่อน โดยแผนงานวิจัยนี้เป็นการขับเคลื่อนใน 10 จังหวัดนำร่อง ที่ถือว่าเป็นงานวิจัยแรกที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ใคร ที่ไหน ครัวเรือนอะไร ที่จน ซึ่งระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา มีบุคลากรทั้งจากนิสิต นักศึกษา อาสาสมัคร กว่า 1,500 คน ลงพื้นที่สำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาเชิงลึกของความยากจน สร้างกลไกค้นหาและสอบทานคนจน รวมทั้งวิเคราะห์ทุนของคนจนในพื้นที่รายครัวเรือนและรายชุมชน สามารถค้นหา สอบทานครัวเรือนยากจนรวมทั้งสิ้น 92,656 ครัวเรือน หรือ 352,991 คน จากจำนวนกลุ่มเป้าหมายเดิม 131,040 คน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.บพท. กล่าวว่า บพท. จุดเด่นของโครงการนี้นอกจากการตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อคือ คนจนที่แท้จริงในพื้นที่เป็นใครอยู่ที่ไหน จนด้วยสาเหตุอะไร และจะใช้ทุนเข้าไปช่วยเหลือให้หายจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืนได้อย่างไร ในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่องที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านรายได้ของครัวเรือนต่ำที่สุด (ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์) แล้ว ยังเป็นการทำงานแบบปูพรมและแก้ไขปัญหาผ่านองค์ความรู้ทางวิชาการ ผ่านกลไกการทำงานที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ที่นอกจากจะทำให้เกิดระบบช่วยเหลือในแบบสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และระบบการสร้างการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เกิดรายได้ สามารถดูแลตนเองและครอบครัวอย่างพอเพียง โดยทั้งหมดนี้จะนำไปสู่แผนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับจังหวัดโดยกลไกแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดด้วยความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดเป้าหมาย
ด้านนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ กล่าวว่า การทำงานภายใต้แผนงานวิจัยของกระทรวง อว. ที่เข้าไปสำรวจและค้นหาคนจนได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งมีการติดตามด้านการเพิ่มศักยภาพคนจนในแต่ละพื้นที่ สอดกล้องกับเป้าหมายของ กระทรวง พม. ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าไปสู่ครอบครัวในกลุ่มคนจนเปราะบาง ที่มีคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือบุตรหลานที่ต้องดูแล ทาง พม. จึงพร้อมที่จะร่วมมือกับ กระทรวง อว. ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาในทุกมิติ และส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับหน่วยงาน ในครั้งนี้ บพท. จะส่งต่อระบบข้อมูลและตัวเลขคนจนทั้งหมด 92,656 ครัวเรือน เข้าสู่ระบบช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เพื่อเป็นก้าวหนึ่งของการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
นอกจากนี้ในปี 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีแผนการขยายพื้นที่เป้าหมายจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด โดยจังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา เพื่อให้เกิดการขยายผลการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัย ในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนต่อไป:Cr;มณสิการ รามจันทร์