พิมพ์ไทยออนไลน์//ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่คิกออฟแหล่งเรียนรู้ชุมชนตะเคียนเตี้ยกสอ.-อว. ดึงไอเดียคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ต่อยอดธุรกิจ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) เตรียมคิกออฟเปิดชุมชนตะเคียนเตี้ยแหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยว
โดยชุมชน ที่มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่มีความแข็งแกร่งสามารถฝ่าวิกฤต
โควิด-19 สร้างรายได้และการมีงานทำในชุมชน เตรียมส่งไม้ต่อชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ กสอ. เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ชุมชนเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงอุตฯ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่าน ศูนย์ ITC 4.0 สร้างโอกาสเปิดตลาดออนไลน์ดึงพลังจากนักศึกษารุ่นใหม่ร่วมกับชุมชนต่อยอดธุรกิจเพิ่มมาตรฐานการให้บริการและผลิตภัณฑ์พร้อมผนึก อว. บูรณาการแผนยุวชนสร้างชาติพัฒนาเยาวชนเพิ่มทักษะก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนให้แข็งแกร่งตามแนวทางการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งการให้คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)
ลงพื้นที่เพื่อศึกษาความก้าวหน้าการยกระดับโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ของชุมชนตะเคียนเตี้ย บางละมุง จ.ชลบุรี ภายใต้ โครงการ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจ ซึ่งชุมชนตะเคียนเตี้ย ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จและมีศักยภาพสำหรับการเป็นศูนย์การเรียนรู้
เพื่อถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่น ๆ ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่นำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและให้ความสำคัญในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นจุดขาย รวมถึงยังสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวผ่านหมู่บ้าน CIV ที่มีอยู่
ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ชุมชนตะเคียนเตี้ยถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กสอ. เข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทั้งในด้านการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC 4.0) ในการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นการสร้างโอกาสทางการตลาด
ด้วยระบบออนไลน์ หรือ e-commerce ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ตลอดจนการพัฒนาการบริการให้ได้มาตรฐานของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ตามมาตรการของภาครัฐผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพในครอบครัวและหัตถกรรมไทยซึ่ง กสอ. ทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกชุมชนและผู้ประกอบการรวมทั้งยังได้เปิดหลักสูตรอบรมการบริหารจัดการธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการทำการตลาดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของชุมชน CIV กระทรวงอุตสาหกรรมโดย กสอ.ได้เข้าไปบูรณาการด้านการพัฒนาและส่งเสริมชุมชนโดยการคัดเลือกชุมชน 11 แห่ง ที่เป็น CIV 5 ดาว ที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับชุมชนตะเคียนเตี้ยที่ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ภายใต้ “ยุวชนสร้างชาติ” เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาร่วมศึกษาในการจัดทำแผนงานเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีศักยภาพพร้อมขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ในอนาคต “การพัฒนาศักยภาพชุมชนกับ อว. ครั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับหมู่บ้าน CIV 5 ดาว
ไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการนำความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาที่มีไอเดียใหม่ๆมาผสมผสานกับวิถีชุมชนเพื่อพัฒนา
ต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ให้เกิดความแปลกใหม่โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ การตลาด
การนำองค์ความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์เข้ามาพัฒนาตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อรองรับกับการท่องเที่ยวที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยยังคงต้องรักษาอัตลักษณ์และเกิดความร่วมมือจากชุมชนทำให้นักศึกษาได้เพิ่มประสบการณ์นอกห้องเรียนเพิ่มทักษะก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน” ปัจจุบันกสอ.ได้ดำเนินการร่วมกับ อว. ในการพัฒนาหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปแล้ว 11 ชุมชนนำร่องของปีงบประมาณ 2563 ส่วนชุมชนตะเคียนเตี้ยจะร่วมมือกับ อว.ดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564
โดยจะนำทีมนักศึกษา ชั้นปีที่ 3 และปีที่4 จำนวน 8-10 คน ต่อทีมที่เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาจากสาขาวิชาต่าง ๆลงพื้นที่ศึกษาและจัดทำแผนงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาต่อยอดจากการเป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีความหลากหลายมากเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงทั้งทางด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการการพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต และการตลาด รวมทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ เข้ามาเรียนรู้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น สำหรับชุมชนตะเคียนเตี้ยเป็น 1 ใน 250 หมู่บ้าน CIV ที่กสอ. ได้ดำเนินงานตั้งแต่
ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบันและเป็นหนึ่งใน 27 ชุมชนแรก ที่ กสอ.ได้เข้าไปพัฒนาโดยได้บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความโดดเด่นของชุมชนตะเคียนเตี้ยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชนมีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีอยู่เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของภาคตะวันออกและชุมชนได้ร่วมมือกันพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยววิถีมะพร้าวชาวตะเคียนเตี้ย” ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาการดำเนินงานที่เข้มแข็งของชุมชน ส่งผลให้แรงงานในชุมชนมีงานทำทั้งยังสามารถรองรับแรงงานที่อพยบกลับภูมิลำเนาซึ่งสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ได้มีการเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมในพื้นที่ต่าง ๆ ของชุมชนโดยการกำหนดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ไม่ว่าเป็นบ้านร้อยเสา สวนฟ้าใสไอโกะ บ้านใจดีสวนป่าสาโรชกะแหวว บ้านป้าลมุล จุดสาธิตการทำอาหารบ้านป้าแป๊ด บ้านกะลาโฮมสเตย์ โดยชุมชนสามารถพัฒนาอาหารประจำถิ่นที่ใช้มะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารทั้งคาว หวานซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนตะเคียนเตี้ย
ขณะเดียวกัน กสอ. มีนโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน” เอสเอ็มอีให้ดีพร้อมซึ่งการปั้นเอสเอ็มอีหรือวิสาหกิจชุมชนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นมิติหนึ่งในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ความคิดสร้างสรรค์และทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ และมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของชุมชน ประกอบกับการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่9 มาประยุกต์ในการจัดทำหมู่บ้าน CIV จึงนับเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก”นายธีระยุทธ กล่าว