นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดเป้าหมาย 14,500 แปลง พื้นที่ 30 ล้านไร่ ในพื้นที่ 77 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 3 เมษายน 2568) มีการรับรองแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วทั้งสิ้น 11,410 แปลง เกษตรกร 600,138 ราย พื้นที่ 9,413,361 ไร่
ในการนี้ สศก. ได้ติดตามประเมินผลตัวอย่างของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นแปลงที่เข้าร่วมโครงการในปี 2565 พบว่า ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 34 ราย พื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 409 ไร่ มีนายวัฒนา อานามวงษ์ เป็นประธานกลุ่ม มีสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดตราด ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตราด สำนักงานตรวจบัญชีและสหกรณ์จังหวัดตราด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตราด สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ตลอดระยะเวลา 3 ปี กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลหนองโสน ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มแปลงใหญ่ฯ มาอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน การใช้สารชีวภัณฑ์ และการผลิตทุเรียนให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายแปลงใหญ่เพื่อแจ้งเตือนภัยในการระบาดของศัตรูพืช การพยากรณ์อากาศ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินกิจกรรมในแปลง เป็นต้น ส่งผลทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เฉลี่ยเหลือ 27,057 บาท/ไร่/ปี จากเดิมต้นทุน 33,830 บาท/ไร่/ปี (ลดลง 6,773 บาท/ไร่/ปี หรือร้อยละ 20.02) เนื่องจากมีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในการป้องกันและควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่า และการผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นต้น และสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 1,940 กิโลกรัม/ไร่/ปี จากเดิม 1,507 กิโลกรัม/ไร่/ปี (เพิ่มขึ้น 433 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 28.73) ทั้งนี้ ภาพรวมในระยะ 3 ปี กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนหนองโสน สามารถลดต้นทุนการผลิตได้รวมได้ 2.77 ล้านบาท และสามารถเพิ่มผลผลิต 26.56 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 23.79 ล้านบาทในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับความพึงพอใจ พบว่า กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรสมาชิกเป็นอย่างดี มีการรวมกลุ่มกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น การประชุมกลุ่มเพื่อพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังได้รับการติดตามงานและดูแล จากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินการระยะถัดไปทางกลุ่มได้วางแผนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนตกเกรด การส่งเสริมให้สมาชิกทำการผลิตทุเรียนปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติ ทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ให้ครอบคลุมสมาชิกทุกรายต่อไป ทั้งนี้ สศก. มีแผน จะติดตามครอบคลุม 14 สินค้า ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสอดรับกับการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป.