ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ณ มทร.ธัญบุรี
วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ในการนี้มี นายองค์รักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พร้อมทั้งผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดปทุมธานี อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ ร่วมต้อนรับและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
โดยในช่วงเช้า เป็นการนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนที่สำคัญๆ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัย ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการรายงานและการจัดนิทรรศการภายในหอประชุมใหญ่ และในโอกาสนี้ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เกียรติ เยี่ยมชมบูธนิทรรศการและผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการพัฒนาและยกระดับด้วย อววน. จากมหาวิทยาลัย จำนวน 30 บูธ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายผู้ประกอบการ / วิสาหกิจชุมชน / SME / ภาคเอกชน และหน่วยงานในสังกัด อว. พร้อมทั้งกล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ให้กับคณะผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนที่เข้าร่วมงาน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้นำเสนอผลการดำเนินงานด้าน อววน. ผ่านการดำเนินงานหลากหลายมิติ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการนำไปใช้ประโยชน์ ที่เชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น การพัฒนางานวิจัย การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการบริการวิชาการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์กับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง โดยชุมชนสามารถนำงานวิจัยที่ได้พัฒนาร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ และก่อเกิดรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพได้อีกด้วย โดยภายในงานจะมีนิทรรศการหลักๆ ดังนี้
1. ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการประกวดในเวทีระดับนานาชาติ
2. ผลงานที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตร (IP)
3. ผลงาน Innovative Start Up (UBI RMUTT)
4. Local Life Market – ตลาดวิถีไทย ใจกลางวิทยาศาสตร์ (ผลงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนภายใต้งานบริการวิชาการ และคลินิกเทคโนโลยี)
5. กิจกรรมตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ สร้างสังคมสุขภาพดี
6. ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Human and Business Development
7. นิทรรศการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานการบูรณาการงานด้าน อววน. การแสดงผลงานการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนา“ดอกบัว” อัตลักษณ์จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ ต้นน้ำ – ปลายน้ำหลากหลายผลงาน ได้แก่
7.1 ความหลากหลายทางพันธุกรรมของบัวหลวงปัทมา ในจังหวัดปทุมธานี
7.2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากบัว (น้ำพริกผัดแห้งจากเม็ดบัว, ข้าวเกรียบรากบัว)
7.3 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางจากบัว (ขนมปังชาดีบัว, ครีมเกสรบัวหลวง)
7.4 การพัฒนาเส้นด้ายบัวหลวงด้วยเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติ
7.5 การใช้ประโยชน์จากบัวเพื่อบ่งชี้คุณภาพสิ่งแวดล้อม
7.6 การวิเคราะห์ต้นทุน ผลประโยชน์ และคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร เครื่องดื่มไทย จากบัวหลวง
8. นิทรรศการจากเครือข่ายของพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
8.1 นิทรรศการจากเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
8.2 นิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัด อว. (วว./NIA/สทน.)
8.3 นิทรรศการจากสถาบัน Wellness x Academy
8.4 บริษัท TnK Beauty จำกัด (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอาง และสกินแคร์)
8.5 IMI Wellness Clinic สาธิตการฝังเข็มแพทย์แผนจีน
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงรับชมการแสดงศิลปะการแสดงรำไทยประยุกต์ชุดนวัตภูษา (ผ้า) ใยกล้วย โดย คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยชุดการแสดงจะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมเส้นใยกล้วยจากธรรมชาติสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ผ่านมิติการแสดงสื่อให้เห็นถึงคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานีโดยผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้เศษวัสดุทางด้านการเกษตรมาสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นของ อววน. ผ่านชุดการแสดงแฟชั่นโชว์ โดย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ โดยชุดการแสดงจะสื่อถึงการนำผลงานวิจัยที่ได้รับการพัฒนา มาใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์และยังมีกิจกรรมตรวจสุขภาพฟรีเบื้องต้น จากคณะพยาบาล มีกิจกรรมนวดแผนไทยคณะการแพทย์บูรณาการ และการสาธิตวิชาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการทำยาดมสมุนไพรจากเปลือกส้มโออีกด้วย
และในช่วงบ่าย ผู้ช่วยรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บัว แห่งบ้านราชมงคลธัญบุรี โครงการตามแนวพระราดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช เพื่อรับชมนิทรรศการแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก“ดอกบัว” โดยมีรายละเอียดดังนี้ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ การปรับปรุงสายพันธุ์บัว ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสเต็มเซลล์จากบัวฉลองขวัญ เครื่องดื่มบัวเข้มข้นป้องกันอาการสมองเสื่อม เครื่องดื่มชาหมักกลีบบัวสาย / ผลิตภัณฑ์น้ำรากบัวผงเสริมโปรไบโอติคสำเร็จรูปโดยวิธีทำแห้งแบบโฟมแมท โดยมี
กิจกรรมต่างๆ เช่น การสาธิตการทำผ้า Eco Print พิมพ์ลายบัว ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านพรพิมาน การสาธิตวาดภาพโดยใช้สีจากบัว และสาธิตการชงชาจากเกสรบัว จากนั้นผู้ช่วยรัฐมนตรีและคณะเข้าเยี่ยมชม Aircraft Maintenance Facilities หลักสูตร “อิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน” ภายใต้การบริหารจัดการของ ศูนย์สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีกิจกรรมดังนี้ สาธิตภาคปฏิบัติการถอด ประกอบ ตรวจเช็ค ใบพัดเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ สาธิตการสตาร์ทเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดเล็ก สาธิตการจำลองการซ่อมบำรุงอากาศยานเครื่องบิน Airbus รับชมต้นแบบห้องเครื่องอากาศยานเสมือนจริงในห้องปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศ (Simulation room)