ผู้ช่วย รมว. กระทรวง อว.ลงพื้นที่การดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ผลักตันการท่องเที่ยวจากเมืองรองสู่เมืองหลักเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่การดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคกลาง-ตะวันตกประตูสู่ทวาย และการนำ อววน.สู่การพัฒนาท้องถิ่น
การผลักตันการท่องเที่ยวจากเมืองรองสู่เมืองหลักเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 3 – 4 เมษายน 2568 ณ จังหวัดกาญจนบุรี
วันที่ 4 เมษายน 2568 ณ จังหวัดกาญจนบุรี นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่การดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี โดยมีว่าที่ร้อยตรีศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนีย์ สุขชาวนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี พร้อมด้วย ผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรี และสื่อมวลชน
ว่าที่ร้อยตรี ศุภมงคล บูชาถ่ายเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นชื่อว่า “กาญจนบุรี เมืองแห่งความสุข” เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทั้งทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ซึ่งมีศักยภาพอย่างยิ่งในการพัฒนาและต่อยอดด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในทุกมิติ
การที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่จริง เพื่อรับฟังความคิดเห็น และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับจังหวัด ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จังหวัดกาญจนบุรีพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมืออย่างเต็มที่ กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบูรณาการกับหน่วยงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และสร้างคุณค่าต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนีย์ สุขชาวนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวถึง นโยบายตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี อว.ส่วนหน้าจังหวัดกาญจนบุรี มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนโยบายของกระทรวงในการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ในยุคปัจจุบัน และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ
บทบาทและพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คือการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่น โดยให้บริการทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพของชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
ในการนี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ การอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ
ในโอกาสนี้ตัวแทนนักศึกษาและอาจารย์ ได้แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนงานด้าน อววน.
นายเรวัฒน์ ตัวแทนนักศึกษาวิศวกรสังคม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผมเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดอบรมน้องๆ และนำทีมน้องๆ ลงพื้นที่ ในการนำเครื่องมือของวิศวกรสังคม เริ่มตั้งแต่กระบวนการสำรวจความต้องการของชุมชน และขณะนี้ผมได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยดำเนินการไปแล้ว 6 กิจกรรม เน้นในเรื่องการบริหารจัดการขยะให้มีมูลค่า การดำเนินงานผ่านไปด้วยดี แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องการได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น หน่วยงานที่เข้ามาหนุนเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ต้องการให้มีกิจกรรมและมีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทั้งด้านพัฒนาศักยภาพ ทั้งด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป
นายโรจนฤทธิ์ สิริล้อสกุลเพชร คณะวิทยาการจัดการ
กล่าว ทาง อว. มีนโยบายหรือโครงการใดบ้างที่สนับสนุนนักศึกษาหรือบัณฑิตที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้คำปรึกษา และการสร้างเครือข่าย
ตัวแทนอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ ร.ต.ดร.นพรัตน์ ไชยชนะ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ประเด็นคำถามถึง อว. เพื่อสะท้อนจากมุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ชายแดนและกลุ่มชาติพันธุ์ในกาญจนบุรีมีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ค่อนข้างมาก อว. มีแนวทางในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน อววน. อย่างไรให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่ชายแดน เช่น การสนับสนุนเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่
อาจารย์จักษุมาลย์ วงษ์ท้าว อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลไกขับเคลื่อนสำคัญในกระบวนการ Soft Power ของ อววน. โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันอุดมศึกษา ในปี 2569 และในอนาคตเป็นอย่างไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมสัน ศรีบุญเรือง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ งานวิจัยบางงาน เช่น งานการขับเคลื่อนนโยบายจากผลงานวิจัย มีโอกาสหรือไม่ที่จะได้รับการสนับสนุนในระยะเวลาต่อเนื่อง เหมือนมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะมีโครงการศึกษาเบื้องต้น การพัฒนาเครื่องในปีแรก ปีที่ 2 ประยุกต์ใช้/ออกแบบนวัตกรรมในพื้นที่จริง 3. การใช้และประเมินผลกระทบในพื้นที่ เพื่อนำมาสู่การต่อยอดสู่นโยบาย ที่สามารถบูรณาการเป็นนโยบายของหน่วยงานจังหวัดได้ เช่น การท่องเที่ยวผ่านผัสสะเมืองเก่ากาญจนบุรี/ การขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองท่องเที่ยว เป็นต้น เนื่องจากงบประมาณที่ได้มาจะเป็นปีต่อปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องสานต่อ
สำหรับผลงานคณะฯที่ออกบูธนำเสนอผลการดำเนินงาน
1.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้ำมันไพลชาววัง , ยาดม , ยาหม่อง , สปาแช่เท้า : วิสาหกิจชุมชนวังขนายเฮิร์บ น้ำพริกกล้วยกรอบสมุนไพร , กล้วยแท่งกรุบกรอบ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารบ้านหินแหลม
2.คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผลิตภัณฑ์จากชุมชนบ้านหนองบาง ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย โครงการ “การจัดการทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตำบลท่าขนุน
อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี” (บพท.) ผลิตภัณฑ์ชุมชนวิถีลาวเวียง บ้านดอนคา ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
3.คณะวิทยาการจัดการ ผลิตภัณฑ์มะนาวดอง / มะนาวแช่อิ่ม / มัลเบอร์รี่และมะขามป้อมกวน : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรสวนมาลี ผลิตภัณฑ์ไวน์อ้อย น้ำตาลอ้อยแท้ 100% : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอ้อยตำบลหนองตากยา
4.คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไม้ทำมือคนพิการ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้ทำมือคนพิการ ตำบลจรเข้เผือก ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
5.คณะครุศาสตร์Edu-Care-Play
นอกจากนี้ มีการแสดงต้อนรับ“ระบำศรีชัยสิงห์”
เป็นระบำโบราณคดีที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ได้สร้างสรรค์ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่จากจินตนาการศิลปกรรมภาพจำหลัก ซึ่งภาพจำหลักนี้ ได้ลอกเลียนแบบมาจากปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดัดแปลงมาจากท่ารำของนางอัปสรบายน ในสมัยขอมบายน มาเป็นหมู่ระบำนางอัปสรฟ้อนรำถวายพระนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งเป็นพระมารดาแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
แสดงโดย นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี อำนวยการฝึกซ้อมโดย ผศ.ดร.พจนีย์ สุขชาวนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และ
อาจารย์นนท์วริศ เกียรติศรุตสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ฝึกซ้อมการแสดงโดย อาจารย์ธนพล สามทองกล่ำ อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี