กรณี นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท. )ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน กรณี ผู้ว่ารถไฟ ต้องตั้งคณะที่ปรึกษาผู้ว่ารถไฟ และคณะทำงานหลายต่อหลายชุด อาทิ คณะทำงาน ศึกษาโครงการร่วมลงทุนกับเอกชน คณะทำงานศึกษาและกลั่นกรองโครงการ คณะที่ปรึกษากฎหมาย ฯลฯ
ล่าสุด ยังผลักดันการนำเอาระบบ E-bidding มา ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างทุกๆ โครงการต่างๆในการรถไฟการเป็นการสังคายนา รูปแบบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้กับหน่วยงานนี้
แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกต ว่าการนำเอาระบบ E-bidding มาใช้ กับการจัดซื้อจัดจ้างในทุกโครงการ อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะงานบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะทางจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเฉพาะทาง บางโครงการหรือบางงานมีผู้ผลิตเฉพาะทางผู้ผลิตเฉพาะด้าน การประมูลจัดซื้อด้วยระบบ E-bidding อาจไม่เหมาะสม แต่ก็ดูจะไม่สามารถทัดทานจุดยืน ความเห็นของผู้ว่ารถไฟคนนี้ได้แค่ไหน หรือวิธีการที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้คิดและกำหนดให้สามารถจัดซื้อด้วยวิธีเจาะจงหรือวิธีคัดเลือกได้นั้นแปลว่า แสดงถึงความไม่โปร่งใสในสายตาของท่านผู้ว่ารถไฟฯใช่หรือไม่ แล้วภาครัฐจะมีการกำหนดวิธีการประกวดราคาเช่นนี้ไปเพื่ออะไร
ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ การรถไฟมีแผนจะประมูลจัดซื้อหัวรถจักรไฟฟ้าไฮบริด 113 คัน วงเงิน 23,000 ล้านที่บอร์ดรถไฟ เพิ่งจะเคาะโต๊ะไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น จะยังคงดำเนินไปภายใต้รูปแบบE-bidding นี้ต่อไปจริงๆหรือ
หลายฝ่าย เป็นกังวล ภายใต้ระบบE-bidding ที่ยึดเอาราคาต่ำสุดเป็นเกณฑ์นั้น มันจะเข้าตำรา “ของถูก ของดีไม่มีในโลก”
สิ่งที่ได้มาจะกลายเป็นหัวรถจักรดีเซลจากจีน อย่างที่การรถไฟฯจัดซื้อเข้ามาทำขบวนก่อนหน้าในราคาต่ำเตี้ยติดดิน ในอดีตจัดซื้อหัวรถจักร 20 คัน 2,000 ล้านตกคันละ 100 ล้านบาทนั้น และมาซื้อรอบหลัง 50 คัน 6,200 ล้านบาท
คุณภาพที่ได้เป็นอย่างไร ทุกฝ่ายรู้กันอยู่ นัยว่าทุกวันนี้มีหัวรถจักรจีน จอดตายเกือบยกฝูงมานานมากแล้ว รอการซ่อมบำรุง รอถอดอะไหลสลับสับเปลี่ยนกันเป็นแถวๆ แต่ท่านผู้ว่าจะปล่อยให้รถจอดตาย จนกระทบการบริการประชาชนไปแบบนี้ ไหนบริการรถไฟ ที่คุยนักโอหนา ว่า ปรับปรุงสู่ยุคใหม่ทันสมัยแล้วนะ ยังคงอยู่ในสภาพ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” ซ้ำรอยประวัติศาสตร์หรือไม่
หากประมูลจัดซื้อหัวรถจักไฮบริรอบใหม่จำนวน 113 คันวงเงิน 23,000 ล้าน ที่บอร์ดรถไฟฯ เพิ่งเคาะโต๊ะไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะประมูล กันปลายปี 2568 นี้ ยังคงเจริญรอยตามหลักการ “อีบิดดิ้ง”ที่ผู้ว่ารถไฟยืนยันว่า มันต้องไปตามครรลองนี้ิ ก็ให้คาดเดาได้ไม่ยากว่า ผลจัดซื้อที่ได้มา คงไม่พ้นจะได้หัวรถจักรไฮบริด made in china ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะระบบ อีบิดดิ้งแน่นอนว่าผู้ผลิตจะพยายามลดต้นทุนการผลิตให้ได้มาซึ่งของงานโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพเป็นหลัก สุดท้ายแล้วได้ความโปร่งใสแต่ไร้คุณภาพ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคตท่านผู้ว่ายอมยืดอกการันตรีเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายนี้
เพราะผู้ผลิตหัวรถจักร จากญี่ปุ่นยุโรป เยอรมัน ฝรั่งเศส หรืออเมริกาคงไม่สามารถลงไปห้ำหั่นราคา ลงมาแข่งกับสินค้า made in china ได้อย่างแน่นอน
ก็คงต้องเตือนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหน่วยงานต้นสังกัด รวมไปถึงผู้ว่ารถไฟเอาไว้ตรงนี้แม้หลักการE-bidding ที่กรมบัญชีกลางวางเอาไว้จะเป็นเรื่องที่ดีแต่นั่น เหมาะสมกับการประมูลจัดซื้อสินค้าและพัสดุภัณฑ์เป็นการทั่วไปอย่างเก้าอี้ช้อนส้อม ถ้วยโถโอชา สินค้าพัสดุภัณฑ์เป็นการทั่วไป ที่ไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพเท่าไหร่
แต่กับสินค้าหรือพัสดุบางประเภท ที่อาศัยเทคโนโลยี เป็นการเฉพาะ และมีผู้ผลิตน้อยรายทั่วโลก เป็นสินค้าที่ ต้องคำนึงถึงความ ปลอดภัยและประสิทธิภาพในการ ใช้งาน เป็นหลัก จะมายึดหลักการต้องได้ของดีราคาถูก คงไม่ได้ ผู้ผลิตยุโรป เยอรมัน ฝรั่งเศส พวกนี้ ไม่มีทางจะลง มาแข่ง ราคา แบบสินค้าแบกะดินจากจีนได้แน่ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคัดเลือก คือเลือกของดี ราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่า วิธีคัดเลือกหรือเจาะจงจะไม่สามารถทำให้กระบวนการเกิดความโปร่งใสได้ ก็ขึ้นอยู่กับงานแต่ละประเภทที่เหมาะสมในการดำเนินการแบบไหนมากกว่ากัน บางงานก็เหมาะสมกับการทำแบบอีบิ้ดดิ้ง บางงานที่ก็สมควรใช้วิธีคัดเลือกหรือเจาะจง หรือบางงานมีเพียงยี่ห้อเดียว สิ่งเดียวที่จะต้องซื้อจะไปใช้อีบิดดิ้งเพื่อสร้างละครแหกตาชาวบ้าน เหตุเพื่อสร้างความโปร่งใสให้ตนเองและหน่วยงาน แต่ความเสียหายที่จะตามมานั้นมีมากมาย ดังนั้นก็สมควรพิจารณาเป็นกรณีๆไป แล้วแต่ลักษณะงานจะดีที่สุด
ส่วนการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะทำงานกลั่นกรองชุดต่างๆ ที่ผู้ว่ารถไฟว่าเป็นการปฏิรูป กระบวนการ บริหารจัดการสมัยใหม่ จะทำอะไรต้องรอบคอบคิดหน้าคิดหลังเป็นร้อยตลบ เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้อะไรนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่กับรถไฟใช้ได้แน่หรือ ลำพังเอาแค่ให้ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงานที่คั่งค้าง อยู่ในมือ รถไฟก็ไม่สามารถจะบริหารจัดการอะไรให้ประสบผลสำเร็จเป็นชิ้นอันได้ และที่ว่าเรื่องงานล่าช้าเพราะไม่เรียบร้อยเลยส่งกลับไปแก้ไขให้เรียบร้อยอันนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่มีในการรถไฟฯ แต่หลายเรื่องก็หายเข้ากลีบเมฆ
ก็ดูอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่การรถไฟโม่แป้งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ผ่านมาวันนี้ กว่า 5-6 ปีเข้าไปแล้ว คืบหน้าไปถึงไหน ?
ทั้งๆที่การรถไฟ โม่แป้งเองกับมือแท้ๆ ไม่ต้องไปขออนุญาตใครแต่กลับไม่มีปัญญาจะบริหารจัดการโครงการให้มันคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมได้
เห็นแล้วก็ให้นึกไปถึงโครงการระบบทางรถไฟและถนนยกระดับโฮปเวลล์ ที่การรถไฟสั่งยกเลิก โครงการ ไปก่อนหน้านี้ด้วยข้ออ้างเอกชนผู้รับสัมปทานคือบริษัทโฮปเวลล์ ก่อสร้าง โครงการได้อย่างล่าช้าไม่มีความจริงใจที่จะดำเนินการเพราะผ่านมา 5-6 ปี กับมีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการไปเพียง 15-20% เท่านั้น จึงต้องยกเลิกโครงการไปแต่พอตัวเอง ปัดฝุ่นเอาโครงการนี้กลับมาดำเนินการเองบ้าง ก็กลับไม่สามารถจะโม่แป้งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปประธรรมได้
หากจะต้องส่งทุกโครงการจัดซื้อ จัดจ้าง ที่เป็นโครงการใหญ่ๆ ไปให้คณะทำงานตรวจสอบชุดต่างๆ กลั่นกรองและตรวจสอบโครงการก่อนทุกกระเบียดนิ้ว
ก็ไม่รู้ว่าชาตินี้รถไฟความเร็วสูงไทยจีนทั้งเฟสแรกและเฟส 2 ที่จะต้องดำเนินการอีกกว่า 354 ก.ม. เพื่อจะไปเชื่อมกับรถไฟ ลาว-จีน ที่ก่อสร้างมาพร้อมกับไทย แต่กลับปาดหน้าเปิดให้บริการไปตั้งแต่ 2564 แล้วนั้น
ก็ไม่รู้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน สายประวัติศาสตร์นี้ จะสำเร็จ ทันฉลอง 300 ปี ความสัมพันธ์ไทยจีนหรือไม่?