พิมพ์ไทยออนไลน์//ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63 เวลา 09.00 น. ที่ห้องปรินซ์บอลรูม 2-3 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และสัมมนาวิชาการ เรื่อง “พลังเยาวชน “ยุติ” การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว” จัดโดยสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์นางพัชรี กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ โดยข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว www.violence.in.th ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ 14 พ.ย. 63 พบว่า ในปี 2563 มีจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว 1,097 เหตุการณ์ ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้ชาย 866 ราย ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้หญิง 158 ราย โดยมีผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้ชาย 187 ราย และผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้หญิง 847 รายนางพัชรี กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน และกลไกเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งการป้องกัน ช่วยเหลือ และคุ้มครอง พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้ประสานความร่วมมือจากบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้สนับสนุนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ที่มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายสหวิชาชีพ และ อปท. ในพื้นที่ตำบล นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรกิจกรรมโรงเรียนครอบครัว (Family School) ในองค์กรระดับจังหวัด ผ่านทางศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนนางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นพลังหลักในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบ และตระหนักต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ สนับสนุน และจัดกิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่างๆ พร้อมทั้งขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายที่ได้มีส่วนร่วมรณรงค์ร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวให้หมดไป เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนของสังคมไทยต่อไปในอนาคต:Cr;มณสิการ รามจันทร์