ประธานวุฒิสภาให้การรับรองเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในโอกาสแสดงความยินดีที่เข้ารับตำแหน่งประธานวุฒิสภา
วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 13.30 นาฬิกา นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองนายรอเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก (H.E. Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในโอกาสแสดงความยินดีที่เข้ารับตำแหน่งประธานวุฒิสภา โดยมีนายโสภณ มะโนมะยา รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คนที่สอง
นายชิบ จิตนิยม รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คนที่ห้า และนายปริญญา วงษ์เชิดขวัญ รองประคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คนที่ห้า ร่วมให้การรับรอง
ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลา 191 ปี มีการพัฒนาที่ก้าวหน้าและมีพลวัตสูงขึ้น วุฒิสภาพร้อมที่จะร่วมมือกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในการส่งเสริมความสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือทั้งกรอบรัฐสภา สาธารณสุข และความมั่นคงเพื่อเพิ่มพูนมิตรภาพระหว่างประชาชนให้มีพลวัตต่อเนื่องและก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ สำหรับด้านเศรษฐกิจ ยินดีที่ทั้งสองประเทศผลักดันกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน
ด้านเอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณประธานวุฒิสภาที่ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งแสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งประธานวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา สหรัฐอเมริกามีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในด้านต่าง ๆ และพร้อมจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับวุฒิสภา คณะกรรมาธิการต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งและความเจริญในหลายด้าน และมีความยินดีที่จะหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ทั้งในเรื่องการพัฒนาความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านระบบรัฐสภา ด้านการบริหารราชการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล สำหรับมิติทางด้านเศรษฐกิจ เป็นที่น่ายินดีที่บริษัทเอกชนของสหรัฐอเมริกาสนใจมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดบริษัท Google จะเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ควรมีมาตรการส่งเสริมและจูงใจให้นักลงทุนสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวแสดงความเสียใจในนามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือของไทย ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและขยายความร่วมมือกับไทยในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำหรับด้านการศึกษามีความสำคัญอย่างมากสหรัฐอเมริกาพร้อมขยายความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาและการวิจัยให้มีการแลกเปลี่ยนกันกว่า 50 แห่ง รวมทั้งบริษัทเอกชนที่จะมาอบรมความรู้เกี่ยวกับ AI เทคโนโลยีเพื่อให้มีทักษะทางด้านวิชาชีพที่เหมาะกับความต้องการของโลกต่อไป
ประธานวุฒิสภากล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ต่อสถานการณ์น้ำท่วมของไทย ทั้งนี้ ไทยกำลังพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วม สึนามิ ที่สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบทั่วโลก ซึ่งขณะนี้รัฐสภาไทยกำลังขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม รัฐสภาสู่ Net Zero นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นเขตการค้าเสรี FTA และ OECD รวมถึงด้านแรงงาน การพัฒนาทักษะให้กับแรงงานไทย และการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทย