พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน ซึ่งจัดโดย สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จากนั้น เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ (Eco-Efficiency)” ระหว่างสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) กับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. โดยมีนายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการ สธค. และนางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สพภ. ร่วมลงนาม
นายวราวุธ กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานโครงการจิตอาสา 904 วปร. ตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อมุ่งหวังให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ปรองดอง สามัคคี ร่วมมือร่วมใจ ประกอบกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขของชุมชนส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และให้มีความรัก ความผูกพันต่อสถาบันหลักของชาติ อันได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จึงได้จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้บุคลากร เกิดความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของการเป็นจิตอาสาเพื่อประชาชน รวมทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์
นายวราวุธ กล่าวว่า โอกาสนี้ กระทรวง พม. โดยสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ (Eco-Efficiency)” ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทั้ง 2 หน่วยงาน บูรณาการความร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนเชิงนิเวศ การส่งเสริมการทำอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาองค์ความรู้ เชิงอนุรักษ์ในพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนผ่านคุณค่าจากบริการระบบนิเวศ (Ecosystem Services) และสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สพภ. จะเข้ามาเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ให้เครือข่ายชุมชนผ่านการสนับสนุนทุนในการประกอบอาชีพ การถ่ายทอดความรู้ สร้างวิทยากร การเพิ่มช่องทางสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการ การสนับสนุนการว่าจ้างประชาชนให้มีรายได้ในพื้นที่ดูแล และจะได้ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้กลับคืนมา ที่สำคัญทาง สธค. จะให้ความรู้กับพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการออม ทำให้เวลาสูงอายุขึ้นจะได้ไม่ลำบาก ดังนั้นวันนี้ทั้งสองหน่วยงาน ได้ลงนาม MOU ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความร่วมมือที่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย และภาคอีสานตอนบน ซึ่งจากการที่มีน้ำไหลลงมามากมาย สะท้อนให้เห็นภาพว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นการให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจถึงหลักการของ BCG Model มีความสำคัญเช่นไร การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตำบลป่าสะแกในจังหวัดสุพรรณบุรีเอง และที่สำคัญได้มีการออมให้พี่น้องประชาชน นับเป็นประโยชน์จากการทำโครงการนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในนามของกระทรวง พม. ต้องขอเป็นกำลังใจให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าสะแก จังหวัดสุพรรณบุรี และพี่น้องประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการต่อยอดและความสำเร็จกลับออกมาในรูปแบบของความอยู่ดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียวรวมใจ #พม #สุพรรณบุรี #สำนักงานธนานุเคราะห์ #สธค #โรงรับจำนำของรัฐ #สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ :Cr;มณสิการ รามจันทร์