พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์และการป้องกันแก้ไขปัญหาการขอทาน ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติสถานการณ์การขอทานทั่วประเทศ จากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 – 31 กรกฎาคม 2567 พบว่า มีผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย เป็นคนไทย 5,001 ราย (ร้อยละ 65) เป็นต่างด้าว 2,634 ราย (ร้อยละ 35) และในเฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่ามีผู้ทำการขอทาน ทั้งสิ้น 506 ราย แบ่งเป็นคนไทย 331 ราย และต่างด้าว 175 ราย พื้นที่ที่พบผู้ทำการขอทานส่วนใหญ่มีลักษณะกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่ และในปีงบประมาณ 2567 ยังพบขอทานมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และลพบุรี
นายวราวุธ กล่าวว่า สาเหตุของการทำการขอทานนั้น ประกอบด้วย 1) ข้อจำกัดด้านร่างกาย / จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา 2) ปัจจัยด้านการศึกษา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง 3) อิทธิพลความเชื่อ การให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ และ 4) ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน ทั้งนี้กระทรวง พม. ได้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขอทาน โดยการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขอทาน กระทรวง พม. มีหน้าที่ในการคัดกรอง คุ้มครอง และส่งต่อ ดังนั้น การดำเนินการจึงเป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กร NGOs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกัน และการควบคุม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้แก่ เทศกิจ ตำรวจ ตำรวจ ตม. ตำรวจ ปคม. เทศบาลนคร/เมืองพัทยา 31 แห่ง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ องค์การเฟรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเอ – ทเวนตี้วัน (A-21) มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และสถาบันการศึกษา ซึ่งในการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน กระทรวง พม. จะประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน หากพบขอทานผิดกฏหมาย นอกจากนี้ มีแผนอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จาก พม. เทศกิจ อปท. และการพัฒนาหลักสูตรการอบรมให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง ถอดบทเรียนการดำเนินงานจังหวัดที่ไม่พบผู้ทำการขอทาน ต่อเนื่อง 3 ปี จำนวน 9 จังหวัด (ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ครั้งที่ 1/2567) ได้แก่ ตาก เพชรบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี สตูล ลำปาง นครพนม น่าน และพังงา รวมถึงการจัดประชุมและทำแผนบูรณาการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดที่มีผู้ทำการขอทานเพิ่มขึ้น จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ระยอง ภูเก็ต ลพบุรี กำแพงเพชร และนครปฐม
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานนั้น การดำเนินการเชิญตัวผู้ทำการขอทาน ถือเป็น “การควบคุมตัว” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ต้องมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะเชิญตัวจนถึงการส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน จึงต้องมีตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงด้วยทุกครั้ง ดังนั้น ในการจัดระเบียบขอทานจึงต้องมีการจัดทำแผนการลงพื้นที่ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือนสิงหาคม 2567 มีแผนจัดระเบียบในพื้นที่สำคัญ จำนวน 12 ครั้ง สำหรับในต่างจังหวัดมีแผนบูรณาการลงพื้นที่เดือนละอย่างน้อย 2 ครั้ง และในงานเทศกาลสำคัญ ตลอดจนเมื่อมีการรับแจ้งจากสายด่วน 1300 จะดำเนินการประสานตำรวจเพื่อลงพื้นที่ร่วมกัน
“นอกจากนี้ กระทรวง พม. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จะมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจและสื่อสารมวลชน ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ หอศิลป์ กรุงเทพมหานคร จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับสังคม ภายใต้ธีม “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน” โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานมีวิดิทัศน์ประชาสัมพันธ์ สร้างการตะหนักรู้ด้านกฎหมาย เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ พร้อมแจก พัดโดยมีข้อความ “หยุดให้ = หยุดขอทาน” 5 ภาษา และจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ”
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. มีแนวทางในการพัฒนามาตรการกลไกในการควบคุม คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน โดยในส่วนของผู้ทำการขอทานไทย จะทบทวนแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานรายบุคคลร่วมกับครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมธุรกิจและเครือข่าย CSR ให้เข้ามามีส่วนร่วม และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และในส่วนของผู้ทำการขอทานต่างด้าวนั้น กระทรวง พม. จะบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน พม. และ ตม. เพื่อให้เห็นจำนวนครั้งของการขอทานซ้ำ และเสนอให้ ตม. ทบทวนขั้นตอนการส่งผู้ทำการขอทานต่างด้าวกลับประเทศ หารือกับกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูตกัมพูชา ในการสร้างความร่วมมือร่วมกัน นอกจากนี้ การคุ้มครองเด็กที่ติดตามผู้ทำการขอทานนั้น เสนอให้มีการทบทวนระเบียบที่เกี่ยวกับสถานที่พักพิงระหว่างรอผลตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และที่สำคัญ คือการพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้มีการจัดทำหลักสูตรการอบรมตามกฎหมายเฉพาะให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง และเพิ่มเติมตำแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ในประกาศกระทรวง
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีแนวทางในการทบทวนและปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ได้แก่ 1.ประชุมคณะอนุกรรมการและปรับปรุงกฎหมาย เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ 2.พิจารณาปรับแก้ นิยามผู้ทำการขอทาน การกำหนดอัตราโทษสำหรับผู้ทำการขอทานและผู้แสวงหาประโยชน์จากผู้ทำการขอทาน การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต การกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ การเพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมการขอทาน 3.การแยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทาน (แยกกฎหมาย/แยกหมวดจากกฎหมายเดิม) กำหนดนิยาม และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4. เสนอ (ร่าง) กฎหมายให้คณะกรรมการควบคุมการขอทานพิจารณา คาดว่ายกร่างได้ภายใน 6 เดือน 5.รับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน ที่แก้ไข/ฉบับใหม่ 6.การพัฒนาร่างกฎหมาย 7.เสนอ ครม.
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญในการปราบปรามผู้ทำการขอทานเป็นสิ่งที่กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการอยู่เสมอ ดังนั้นขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนหยุดให้ขอทาน หยุดเอาความสงสารเป็นตัวที่สนับสนุนให้คนทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อชาวโลก และการแก้ไขปัญหาขอทานและคนไร้บ้าน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 × 5 ฝ่าวิกฤตประชากร ซึ่งหนึ่งในนั้นเราพูดถึงการสร้างระบบสังคม สร้างระบบนิเวศให้กับพี่น้องประชาชน ให้มีสังคมที่น่าอยู่และสังคมปลอดจากขอทาน ปลอดจากคนไร้บ้าน ซึ่งจะทำให้สังคมไทยเราน่าอยู่ขึ้น นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังได้สร้างโอกาสทางการทำงาน การฝึกวิชาชีพ และที่อยู่ให้กับขอทานและผู้ไร้บ้านทุกๆ คน#พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #จัดระเบียบขอทาน #พรบควบคุมการขอทาน:Cr;มณสิการ รามจันทร์