วันเสาร์, เมษายน 27, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนปลัด พม. ย้ำท้องถิ่น - ชุมชน เป็นหัวใจสำคัญการทำงานเชิงพื้นที่ เน้นความร่วมมือแบบภาคีหุ้นส่วน มุ่งบรรลุ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

ปลัด พม. ย้ำท้องถิ่น – ชุมชน เป็นหัวใจสำคัญการทำงานเชิงพื้นที่ เน้นความร่วมมือแบบภาคีหุ้นส่วน มุ่งบรรลุ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เข้าร่วมการประชุมรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ในห้วงการประชุมหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2565 (High – level Political Forum on Sustainable Development: HLPF 2022) ทั้งนี้ การนำเสนอรายงาน VNR ดังกล่าว เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนความคืบหน้า ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งตอบข้อซักถามจากประเทศต่าง ๆ สำหรับปีนี้ มีประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการนำเสนอรายงานมาจากหลายภูมิภาค อาทิ ประเทศอาร์เจนตินา ฟิลิปปินส์ สวิสเซอร์แลนด์ และมาลี เป็นต้น โดยมีการกำหนดนโยบายการขับเคลื่อน SDGs และการนำไปปฏิบัติที่หลากหลายตามบริบทของแต่ละประเทศ

นางพัชรี กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กระทรวง พม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบและประสานงานหลักในการขับเคลื่อน SDGs เป้าหมายที่ 5 Gender Equality (ความเท่าเทียมทางเพศ) และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง อีกทั้งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายย่อยอื่นภายใต้ 17 เป้าหมายหลักด้วย ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการจัดทำรายงาน VNR ของประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอในการประชุม HLPF มาแล้วสองครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2560 และ 2564 โดยครั้งล่าสุด มีการทบทวนผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อน SDGs ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโควิด – 19 รวมถึงการนำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า หัวใจสำคัญของการบรรลุ SDGs อยู่ที่ท้องถิ่นและชุมชน เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น การรับฟังเสียงของคนในพื้นที่จึงเป็นการสะท้อนปัญหาและนำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าที่สุด โดยแนวทางการขับเคลื่อน SDGs ของกระทรวง พม. ในระยะต่อไปจึงยังคงมุ่งเน้นการนำบริบทเชิงพื้นที่มาผนวกกับแผนการดำเนินงาน หรือ Localising SDGs อีกทั้งมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนแบบเป็นหุ้นส่วน เพื่อบรรลุ SDGs ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 :Cr,มณสิการ รามจันทร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่